คุณค่า 3 ประการของหมากล้อม
ปราชญ์ “เม้งจื้อ”ได้กล่าวไว้ว่า
“ความรู้สึกอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นหลักของ หลี่
ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นหลักของ จื้อ
ความรู้สึกเห็นใจผู้อื่นเป็นหลักของ เหยิน “
คุณค่าเหล่านี้ “หมากล้อม”ได้สอนผู้เล่นแล้วอย่างไม่รู้ตัว
ในการเล่นหมากล้อมแต่ละกระดานนั้น ผู้เล่นจะได้รับประโยชน์และคุณค่า 3 ประการ คือ
1. หลี่
ขงจื๊อ เคยกล่าวเป็นปรัชญาไว้ว่า “คนจะมีหลี่ หรือ มีมารยาทที่ดีได้นั้น ต้องมีความอบอุ่น (Warmth) ความเมตตากรุณา (Kindness) และ ความเป็นคนที่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Consideration) ยิ่งไปกว่านั้น ต้องรู้จัก อ่อนน้อมถ่อมตน ไม่โอ้อวด” ผู้ที่เล่นหมากล้อมอย่างถูกหลักและตามเป้าหมายที่แท้จริง จะทราบว่าในการเล่นแต่ละครั้งไม่มีใครที่จะชนะทุกกระดาน และไม่มีใครเก่งเกินใคร หรือตรงกับสำนวนที่ว่า ” เหนือฟ้ายังมีฟ้า” ซึ่งจะทำให้ผู้เล่นเข้าใจและสำนึกถึงความเป็น “มนุษย์ที่ดี” ไม่แก่งแย่งชิงดีกัน
2. จื้อ
หมายถึง ความฉลาดปราดเปรื่อง ความรอบรู้ มีไหวพริบ และความเป็นอัจฉริยะ ขงจื้อกล่าวไว้ว่า ” การมีความรู้ที่แท้จริง คือ การไม่หลงเชื่อ งมงายกับสิ่งต่างๆอย่างง่ายดายโดยไม่ใช้วิจารณญานเสียก่อน “อาจารย์สอนหมากล้อมมืออาชีพวัย 70 ปี เคยให้คำนิยามของ “จื้อ” ในแง่ของหมากล้อมไว้ว่า “การเล่นหมากล้อมเป็นการฝึกฝนให้มีการพัฒนาทางจิตใจให้สูงขึ้น เวลาที่ผู้เล่น พินิจพิเคราะห์ ความเคลื่อนไหวของหมากล้อมในแต่ละเม็ดบนกระดาน นั้น เปรียบเสมือนเป็นการแสดงออกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน มองเทคนิคและกลยุทธ์ของคู่เล่นอย่างลึกซึ้ง และพยายามทำความเข้าใจ โดยส่วนมาก เรามักจะไม่ยอมรับ และชื่นชมในความสามารถของ คู่เล่น แต่หมากล้อมสอนให้เรายอมรับ ผลที่จะตามมาก็คือ “ปัญญา” ที่ได้เพิ่มพูนขึ้น จากการเรียนรู้กลยุทธ์ของคู่เล่นนั่นเอง
3. เหยิน
ตามหลักภาษาศาสตร์ จะแปลได้ 2 ความหมาย คือ “ตัวคน” และอีกความหมายคือ “สอง” ซึ่งถ้ารวมกันแล้วจะแปลได้ความหมายว่า คนแต่ละคนจะต้องมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นในด้าน ศีลธรรม ความหมายของ “เหยิน” ในแง่ของหมากล้อม คือ ผู้เล่นจะต้องไม่หวังที่จะเอาชนะแต่อย่างเดียว แต่ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เล่น เพราะเราสามารถเรียนรู้เทคนิคและกลยุทธ์จากคู่เล่นได้ ในขณะเดียวกันคู่เล่นก็สามารถเรียนรู้จากเราได้เช่นกัน
ที่มา : Tuesday 23 Mar 04 , Li: Propriety Chih: Wisdom Jen: Human-Heartedness