เคล็ดลับ “เจ้าพ่อซีพี” ใช้วิทยายุทธ์ “หมากล้อม” สร้างฐานะเป็นเศรษฐี
ชาวจีนเคยกล่าวไว้ว่า ขุนพลจีนที่เก่งกล้าสามารถ จะต้องมีความรู้ มีความอดทน มีไหวพริบและรู้จักใช้เวลาให้เกิดประโยชน์ ซึ่งในอดีตกาลประมาณ 3,000 ปีก่อน เกมกีฬาที่ใช้ลับสมองของยอดขุนพลเมืองจีนเมื่อว่างเว้นจากการศึกสงครามดีที่สุดคือ การเล่นโกะหรือหมากล้อม
ชาวจีนโบราณเปรียบเทียบการเล่นโกะไว้ว่า เสมือนการสนทนาด้วยมือเปล่า บางท่านก็ว่าเป็นฝิ่นของ ปัญญาชน หรือบางคนก็บอกว่าเป็นหมากกระดานมีชีวิต แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม โกะได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 4 ศิลปะประจำชาติจีน จากความพิเศษบวกกับความน่าสนใจ ทำให้ “คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” กรรมการผู้จัดการ ใหญ่ ซีพี-เซเว่นอีเลฟเว่น (ปัจจุบันคือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด(มหาชน) และดำรงตำแหน่งประธานฝ่ายบริหาร) หลงสเน่ห์และเรียนอย่างลึกซึ้งจนได้ชื่อว่าเป็น “เซียน โกะ” ในปัจจุบัน
“ ผมได้รู้จักกับโกะหรือหมากล้อม มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ตอนนั้นมีคน เชื้อชาติ จีนเป็นผู้สอน มันเป็นเกมที่เล่นยาก หลักจากนั้น เมื่อผมจบมัธยมก็ไม่ได้เล่นโกะ อีกเลย จนกระทั่ง 7 ปีต่อมา ผมได้กลับมาสัมผัสกับโกะอีกครั้ง ครั้งนี้ผมได้เรียน รู้มากขึ้น มันเป็นเกมที่มีเสน่ห์สอนผมได้หลายอย่างทั้งในเรื่องของความอดทน อดกลั้น สอนให้รู้จักใช้เหตุผล ผมเชื่อว่าถ้าคนไทยได้รู้จักกับ “หมากล้อม” แล้ว คุณจะเป็นคนมองการณ์ไกล สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาต่างๆได้ดีทีเดียว “
ทำไมจึงว่าหลายคนที่ได้สัมผัสกับโกะด้วยตนเองแล้วจะเกิดความรู้สึกว่าโกะเป็นเกมที่น่าสนใจ สาเหตุ เพราะ โกะมิใช่เกมที่สนุก ตื่นเต้น และท้าทายเท่านั้น แนวคิดและปรัชญาที่เกิดจากทักษะและความชำนาญของผู้เล่นจะทำให้ผู้นั้นรู้จักการวางแผนการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมได้รับผลตอบแทนที่สูงที่สุด รู้จักการใช้เหตุผลมากกว่าการใช้อารมณ์ รู้จักมองการณ์ไกล และรู้จักประคองตนเองเมื่อเพลี่ยงพล้ำ
กระดานโกะมีพื้นที่เล่นมากถึง 361 จุด บนเส้นที่ตัดกันด้านละ 19 เส้น ผู้เล่นทั้งสองฝ่าย คือ ผู้เล่นหมากขาวและหมากดำ จะเริ่มต้นผลัดกันวางหมากของตนครั้งละ 1 เม็ด ตรงจุดตัดจุดใดก็ได้ที่ว่างอยู่ แต่ก่อนที่จะวาง ผู้เล่นต้องคำนึงถึงหลัก 3 ประการคือ ต้องการยึดพื้นที่ของคู่ต่อสู้ ต้องการที่จะกินหมากคู่ต่อสู้ การปล้นเมืองของคู่ต่อสู้ กฎทั้ง 3 ข้อ ต้องอยู่ภายใต้หลักการให้คู่ต่อสู้สามารถอยู่ได้ จึงไม่ใช่เรื่องงาย เพราะนอกจากต้องหาตำแหน่งที่จะลงหมากให้ได้มากที่สุดแล้ว ยังต้องคอยผ่อนเกมให้คู่ต่อสู้สามารถเล่นได้จนหมดกระดานด้วย
การเล่นแต่ละกระดาน ผู้เล่นท้งสองฝ่ายมีโอกาสเท่าเทียมกัน ทั้งทางด้านทรัพยากรและพื้นที่แต่โอกาสแพ้-ชนะ อยู่ที่การรู้จักเตือนสติตนเองการประคับประคองตนเองเมื่อเพลี่ยงพล้ำ สำรวจตัวเองหาจุดบกพร่องและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ดีที่สุด
เมื่อเข้าใจวิธีการเล่นก็สามารถเล่นโกะได้ และพร้อมที่จะพัฒนาฝีมือให้ดีขึ้นเรื่อยๆ และคนผู้นั้นจะเป็นผู้ที่รู้จักนำประสบการณ์จากการเล่นมาประยุกต์ใช้กับงานด้านบริหาร การปกครองหรือแม้แต่การดำเนินชีวิตประจำวันอย่างชาญฉลาด
ปัจจุบันมีคนเล่นโกะอยู่หลายล้านคนทั่วโลก สำหรับในไทยเริ่มจะนิยมพอสมควร มีการตั้ง ชมรมหมากล้อม (ต่อมาพัฒนาเป็น สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย) ตลอดจนได้จัดการแข่งขันหมากล้อมขึ้นทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น เคยจัดที่สถาบันแม่โจ้, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,วิทยาลัยโยนก เป็นต้น ( ปัจจุบัน “ปี2558” มีการจัดแข่งขันหมากล้อมเป็นทางการมากมาย เช่น หมากล้อมเยาวชนชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย, หมากล้อมอุดมศึกษาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย, การแข่งขันกีฬาแห่งชาติ และ การแข่งขันหมากล้อม Thailand Open ฯลฯ เป็นต้น)
“ลูกๆของผมทุกคนก็เล่นโกะได้ เพราะแต่ละวันถ้าเรามีเวลาว่างจะมารวมตัวกันทั้งครอบครัวเพื่อเล่นโกะและผมเชื่อว่าลูกผมทุกคนจะต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักใช้ชีวิตได้ดีกว่าผมเสียอีก เพราะพวกเขายังมีโอกาสและเวลาที่จะคลุกคลีกับโกะมากกว่าผม” เจ้าพ่อซีพี กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 27 ก.พ.39 หน้า35