TGA INTERVIEW EP.1 : หัสดินทร์ เอกสิงหชัย 23ปี : PART 1

PART 1: ยอดฝีมือแห่งภาคตะวันตก / บัญญัติ 10 ประการ / ยาคลายกล้ามเนื้อ

การเพิ่มเติมความรู้นั้นทำได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเรียน การลงมือปฏิบัติ แต่อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการฟัง ฟังจากผู้รู้และมีประสบการณ์มาอย่างยาวนาน และเมื่อเราพูดถึงวงการหมากล้อม ชื่อหนึ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือชื่อของอาจารย์โอ้ หัสดินทร์ เอกสิงหชัย ผู้ที่เป็นเบื้องหลังความสำเร็จของนักหมากล้อมหลายๆ คนและเป็นผู้ผลักดันวงการหมากล้อมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดการแข่งขันใหญ่ๆ ระดับนานาชาติหลากหลายรายการ ซึ่งงานแข่งขัน The MALL GO International Championship ที่กำลังจะถึงนี้ก็ด้วยเช่นกัน

ตลอดเส้นทางสายหมากล้อมกว่า 20 ปี เราสามารถถอดบทเรียนอะไรได้บ้าง บทสัมภาษณ์นี้อาจมีคำตอบอยู่ก็ได้

Q: เล่าให้ฟังหน่อยครับว่าตอนนั้นเล่นหมากล้อมได้ยังไง
A: โชคดีมาก เพราะว่าตอนนั้นทำชมรมหมากกระดานอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่จริงๆ ตอนนั้นเล่น chess (หมากรุกสากล) ไม่ได้เล่นหมากล้อม ก็ส่งรุ่นน้องที่อยู่ในชมรม เช่น ตูมตาม (พรมเมธ นาคใหญ่-อดีตเว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย) เขาเป็นคนแรกๆ ที่ไปเล่นหมากล้อม แล้วก็มีแข่ง U-GO (หมากล้อมอุดมศึกษาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย) ครั้งที่ 1 ปี 2539 ที่จังหวัดกาญจนบุรี ก็เหมือนเป็นช็อตบังคับที่เราต้องแข่ง เพราะแข่งเป็นทีม ทีมละ 3 คน ก็ไปแข่งงั้นๆ ตอนนั้นยังแอบเอาหมากรุกสากลไปเล่นกับพวกนักหมากรุกด้วยกันอยู่เลย (หัวเราะ) แต่ว่าพอไปแข่งแล้วก็รู้สึกว่า เขาจัดได้ยิ่งใหญ่ อลังการมาก แต่พอเวลาเราเล่นหมากรุกต้องไปเล่นกันตามซุ้ม มันคนละอารมณ์กันเลย รู้สึกว่าหมากล้อมมันไฮโซกว่าเยอะ (หัวเราะ)
ตอนที่แข่ง เราก็ดันชนะรวด ได้รางวัลดาวรุ่งยอดเยี่ยมด้วย แล้วมันตลกมาก พอเราเจอทีมที่มีคนเก่งกว่าเราเขาก็จะไปอยู่มืออื่น มือเราดันเจอคนที่ไม่เก่งในทีมเขา คือตอนนั้นเดินได้มั่วมาก แล้วดันชนะ 5 กระดานรวด

Q: แล้วก่อนไปแข่งซ้อมกันยังไงบ้าง
A: สมัยนั้นมันก็ตลกนะ ก็ซ้อมกัน ตอนนั้นตูมตามเขาเก่งสุด เขาก็บอกว่าเขาคือยอดฝีมืออันดับหนึ่งแห่งภาคตะวันตก เพราะตอนนั้นเรียนที่ศิลปากร นครปฐมไง ในนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี ตูมตามเขาบอกว่าเขาเก่งสุด ตอนนั้นก็มีอาจารย์ขวด (สุรพล อินทรเทศ) เข้าไปสอน ได้ฟังแกครั้งนึงก็เข้าใจ แล้วก็กลับมาสู้ตูมตามได้ ก็เลยขนานนามตัวเองว่าเป็นยอดฝีมือของภาคตะวันตกแทน แต่ว่าพอมาเล่นที่สมาคมหมากล้อม เจอเนี่ยนเนี่ยน ลูกสาวคุณก่อศักดิ์ ตอนนั้นเนี่ยนเนี่ยนแค่ 7 ขวบ ต่อให้เราวางก่อน 9 เม็ด จบเกมเหลือรอดอยู่ 2 กลุ่ม กลุ่มนึงมี 2 ห้อง อีกกลุ่มนึงเป็นเซกิ เนี่ย ยอดฝีมือแห่งภาคตะวันตก นั่งรถกลับมหาวิทยาลัยแทบไม่ถูก (หัวเราะ)

Q: ก็คือมาซ้อมที่สมาคมก่อนไปแข่ง U-GO
A: มาซ้อมก่อน แล้วค่อยไปแข่ง ตอนที่แข่งฝีมือน่าจะใกล้ๆ 5 คิวแล้วล่ะ พอแข่งเสร็จก็เริ่มเล่นจริงจังขึ้น แต่อารมณ์เราก็ยังอยู่กับ chess อยู่นะ ก็คือเล่นควบคู่กันไป แต่มันก็มีโอกาสให้เจอหมากล้อม ได้เล่นหมากล้อมอยู่บ่อยๆ มีอยู่วันนึงกำลังนั่งรถเมล์ผ่านมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) แล้วก็เห็นในหนังสือพิมพ์ว่ามันมีแข่งหมากล้อมวันนี้ ก็ลงรถเมล์แล้วไปแข่งเลย ได้ที่ 1 ด้วย มันมีอะไรแบบนี้อยู่เยอะมาก เหมือนมันจะต้องได้มาเล่นหมากล้อม นึกออกมั้ย ตอนนั้นชนะแล้วได้เงินรางวัลด้วย มันก็ดีใจมาก

Q: สมัยนั้นมีดั้งหรือยังครับ
A: ตอนนั้นวีรโชติ (วีรโชติ งามจรัสศรีวิชัย ปัจจุบัน 5 ดั้ง) รู้สึกจะ 1 คิวหรือ 1 ดั้ง ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยก็มีพี่เด่น พี่หมึก เข้ามาช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยด้วย เขาก็ต่อให้เราได้ 9 เม็ด โอ้โห พี่ๆ เขาเหมือนเทพเจ้าเลยตอนนั้น แล้วพี่เด่นก็บอกว่า วีรโชติก็ต่อให้พี่เขาได้ 9 เม็ดเหมือนกัน แม่เจ้า ความรู้สึกมันเหมือนกับว่า เฮ้ย มันคืออะไรเนี่ย ตอนนั้นเราก็ฟังแล้วรู้สึกตื่นเต้น แต่ใจก็ยังไม่ได้อยากจะเล่นหมากล้อมนะ ก็ยังคิดว่าจะเล่น chess เป็นแชมป์โลกให้ได้ คืออารมณ์ยังอยู่กับ chess อยู่

ทีนี้จะใช้คำว่าจุดประกายมันก็ไม่เชิง มันเหมือนกับว่าเราเล่นแล้วมันเพลินไปเลย แล้วก็ลืมหมากรุกไปเองโดยไม่รู้ตัว

Q: แล้วช่วงที่เริ่มเล่นมีคนเล่นมากน้อยแค่ไหนครับ
A: ตอนนั้นก็มีกลุ่มที่เล่นมาก่อนเราอยู่พอสมควร ศิลปากรเป็นมหาวิทยาลัยท้ายๆ ที่เริ่มเล่น จุฬา ธรรมศาสตร์ เกษตรฯ เล่นก่อนเยอะ

Q: พอเข้ามาเล่นที่สมาคมเป็นอย่างไรบ้างครับ
A: มันเป็นอีกโลกนึงเลย อารมณ์ประมาณว่าที่เราเข้าใจ ที่เล่นกันในมหาวิทยาลัยนี่มันติงต๊องมาก ช่วงนั้นมันมีเรื่องสนุกเยอะนะ คือเราคิดว่าตัวเองเข้าใจ แต่จริงๆ เราไม่เข้าใจ มีอยู่ครั้งนึง มีรุ่นพี่ชื่อเมธี แกจะเป็นคนที่หน้านิ่งๆ เฉยๆ เงียบๆขรึมๆ แล้วแกไม่เคยชวนใครเล่นหรือชวนใครคุย แกมานั่งดูคนอื่นเล่น แกนั่งอยู่ทั้งวันโดยที่ไม่เล่น นั่งตั้งแต่เช้ายันเย็น เราก็ไม่กล้าคุยกับแก วันนึงพี่จง (แม่บ้านที่สมาคมหมากล้อม) ก็บอกให้เราเล่นกับแกดู พอเล่นกัน มีหมากกลุ่มใหญ่ประมาณ 50-60 เม็ดเของเราโดนล้อม เราก็ยังเดินออกจากหมากกลุ่มนี้ต่อ พี่เมธีแกก็ชี้ไปที่ห้องของหมากกลุ่มนั้นแล้วพูดว่า “ห้องปลอม ห้องปลอม ห้องปลอม ห้องปลอม” คือมันเป็นห้องปลอมหลายๆ ห้อง ไอ้เราก็คิดในใจว่าหลอกกันแน่ๆ แต่พอนั่งดูดีๆ ปรากฏว่า เฮ้ย ตายจริง คือพี่เมธีตอนนั้นเขาเก่งกว่าเรามาก แต่แกเป็นคนไม่พูด จนได้เห็นแกคุยกับคนต่างชาติเลยได้รู้ว่าพี่เมธีเรียนป.โทอยู่ที่วิศวะ จุฬา ตอนหลังเราสนิทกันมากเพราะว่าไปเรียนหมากล้อมที่เมืองจีนด้วยกัน จำช็อตนั้นได้ ความรู้สึกที่เล่นกับพี่เมธีครั้งแรกเหมือนกับว่า เราโดนพี่จงแกล้งให้เราเล่นกับคนประหลาดๆ คนนึง อะไรอย่างนี้

ตอนนั้นมันยังไม่รู้อะไรนะ มันไม่มีความเข้าใจที่ชัดเจน ไม่มีระบบการเรียนการสอนเหมือนอย่างปัจจุบันนี้ หรือต่อให้มีเราก็ไม่มีเงินนะตอนนั้น (หัวเราะ) แต่เราโชคดี พอเราเริ่มเล่นเป็นแล้วตอนนั้นมันมีบัญญัติ 10 ประการที่คุณก่อ (ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์) และอาจารย์โฆษา (โฆษา อารียา) เขียนไว้ เราก็ใช้จุดนั้นเป็นหลัก ทำอะไรผิดจากบัญญัติ 10 ประการเราก็มานั่งทบทวน แล้วก็เป็นความโชคดีอีกว่า อาจารย์โฆษา ปกติสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกียวโต เป็นคนไทยคนแรกๆ ที่เล่นหมากล้อมด้วย แกกลับมาปีละ 2 ครั้ง ก็จะสอน พอฟังแล้วก็ได้อะไรเยอะมาก ชิด-ชิดด้วย ห่าง-ห่างด้วย นี่เราเข้าใจจากอาจารย์โฆษาเลย

Q: ช่วงนั้นก็คือไม่ได้มีคนสอนจริงจังใช่ไหมครับ
A: ตอนนั้นมีคุณอดัมสอนอยู่คนเดียว แต่ตอนนั้นเรายังเรียนไม่จบ ก็ไม่มีเงินเรียนอยู่แล้ว ต้องศึกษาเองเป็นหลัก แบบค่อนข้างมั่วมาก ตำราส่วนใหญ่ก็เป็นภาษาอังกฤษอีก ซึ่งเราอ่อนมาก ต้องเปิดดิคแปลทีละตัว เจอหนังสือ fuseki ก็งงแล้ว อะไรเนี่ย ตอนนั้นฝีมือยังไม่ถึง 1 ดั้ง ก็อ่านไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว สุดท้ายก็ได้บัญญัติ 10 ประการเป็นตัวหลักที่ทำให้พัฒนาขึ้น

แต่เรามีเรื่องโชคดีอีก2เรื่องคือ เราได้คุณหวูช่วยสอนให้ คุณหวูเป็นคนจีนฝีมือระดับ6 ดั้ง (หวู เจ้า หรู ปัจจุบันเป็นเจ้าของฟาร์มผึ้ง Big bee พัทยา) เป็นช่วงที่พัฒนาฝีมือได้ไวที่สุด จำได้ว่าตอนที่เริ่มเล่นกับคุณหวู ฝีมือประมาณ 5 คิว เล่นเสร็จแล้วก็คอมเมนต์กัน ใช้เวลา 8-10 กระดาน ก็ขึ้น 1 ดั้งได้ เร็วมาก จากเคยต่อ 9 เม็ดก็เหลือ 4 เม็ด เพราะเวลาที่คุณหวูคอมเมนต์เกมมา เราก็จะเอามาจับกับบัญญัติ 10 ประการ แล้วก็เอามาทบทวนต่ออีกว่าเขาสอนอะไรเรามาวันนี้ เอามานั่งประมวลผลต่อ เอามานั่งคิดต่อ ครั้งต่อไปจะไม่ทำผิดแบบเดิมอีก

อีกความโชคดีคือเรามีวีรโชติช่วยซ้อมให้ โชติเป็นคนที่น่ารักมาก ช่วยเดินหมากกับเราตลอด ในทุกสถานที่ที่มีโอกาส บนรถไฟ บนเรือ เครื่องบิน ลานเบียร์ โต๊ะจีนงานแต่งงาน คือเผลอไม่ได้ ต้องขอให้วีรโชติช่วยทุบ ตอนนั้นโชติ1-2ดั้งแล้ว เราประมาณ4 คิว

Q: ในตอนนั้นสิ่งที่ยึดเป็นหลักในการเล่นคืออะไร
A: เล่นเยอะ แล้วก็พยายามตรวจสอบหมากที่ผิดพลาดของตัวเอง คือเรามีประสบการณ์จากหมากรุก ซี่งพอเราเล่นจบเราก็ต้องมาถอดแต้มอยู่ดีว่าเราทำอะไรผิด หมากล้อมก็เหมือนกัน

ปัญหาของลูกศิษย์ที่เราสอนหลายคนคือกลัวจะรู้ว่าตัวเองทำอะไรผิด กลัวความผิด กลัวไปทำไม มันไม่มีเหตุผลโดยสิ้นเชิงเลย คนเราต้องอยากรู้ว่าตัวเองทำอะไรผิดสิ ถูกมั้ยสิ่งที่สำคัญคือเราพยายามดูอยู่ตลอดเวลาว่าเราทำอะไรผิด แล้วพยายามไม่ทำแบบนั้นอีก แต่ต้องยอมรับว่าในตอนนั้นทุกสิ่งทุกอย่างมันคลุมเคลือไปหมด ความรู้ของเรายังเข้าใจว่าใครท่องโจเซกิได้เยอะกว่าคนนั้นเก่ง นี่คือความเข้าใจผิดมหาศาลมาก

Q: กว่าจะกะเทาะออกมาได้ใช้เวลานานมั้ยครับ
A: ก็เป็นเรื่องโชคดีอีก คือตอนนั้นคุณก่อเชิญอาจารย์ฟางเจี๋ยมา ตอนนั้นมีการสัมภาษณ์อาจารย์ว่าทำยังไงคนไทยถึงจะเก่ง อาจารย์ก็ตอบว่า “เอาตำราที่มีทั้งหมดในสมาคมไปเผาไฟ เก็บไว้แค่หนังสือ life & death (หมากเป็นหมากตาย) กับ tetsuji (หมากเด็ด) พอ” ตอนนั้นเราได้ยินก็สตั๊นเลย โอ้โห เราโง่มานานมาก หลังจากนั้นคือทำโจทย์อย่างเดียวเลย

แล้วมันมีบทพิสูจน์ คือได้เล่นกับคุณโรเจอร์ ฝีมือ 5 ดั้ง ตอนนั้นสอบผ่าน 1 ดั้งแล้ว แต่คุณโรเจอร์สามารถต่อเราได้ 4 เม็ด เวลาเล่นกันจะมีผลลัพธ์อยู่ไม่กี่อย่าง คือ ชนะขาด หรือเหมือนจะชนะ แต่แพ้ไปนิดเดียว อารมณ์ประมาณว่า บ้านเราอยู่ตรงไหนคุณโรเจอร์เข้ามารอดได้ตลอด แล้วเวลาแกเปิดเกมแกจะเปิดแบบเฮลิคอปเตอร์ คือเปิดจุด 6-6 ทั้ง 4 มุม แล้วก็ค่อยๆ หยั่งรากลงที่จุด 6-3 แกจะเล่นแบบนี้ทุกเกม เราก็แพ้ แต่พอทำโจทย์ได้แค่ 3 เดือน ก็ลดเม็ดกับคุณโรเจอร์มาเหลือ 2 เม็ด หลังจากนั้นไม่นานก็คือต้องเล่นเท่ากันแล้ว เป็นผลจากการทำโจทย์ life & death กับ tetsuji เลย พออาจารย์ฟางบอก เราก็ทำโจทย์แบบอุตลุดเลย

Q: แล้วที่ไปแข่ง World Amateur นี่ผ่านการคัดเลือกยังไงบ้างครับ
A: อันนั้นคือได้ที่ 1 ของ Thai Championship ก็ซ้อมที่สมาคมเป็นหลัก แต่ได้เล่นผ่านอินเทอร์เน็ตน้อย แต่ตอนที่ซ้อมเยอะที่สุดคือก่อนที่จะไปเรียนเมืองจีน ถ้าจำไม่ผิดคือปี 2544 เราขอบริษัทหยุดงานก่อนที่จะไปเรียน 4-5 เดือน ตอนนั้นคือซ้อมหนักจริง ซ้อมตั้งแต่เช้ายันเย็นเลย เวลาซ้อม หลักๆ ก็คือเล่น ดูบันทึกหมากของมืออาชีพ แต่ทำโจทย์น้อย ตอนนั้นก็พยายามเล่น คือมันยังไม่เข้าใจเหมือนตอนนี้ มันยังไม่มีทิศทางการซ้อมที่ถูกต้อง ยังแบ่งเวลาการซ้อมไม่ถูก สมมติว่า 8 ชั่วโมง เล่นอย่างเดียวก็ 5-6 ชั่วโมงแล้ว คือมันเล่นเยอะไป เล่นเยอะในระดับที่ต้องไปหาหมอเลยนะ เพราะว่าเราใช้มือคลิกเมาส์ตลอด แล้วอีกข้างที่ไม่ได้ใช้มันแข็ง กลายเป็นว่าเราขยับอีกข้างนึงไม่ได้ ต้องกินยาคลายกล้ามเนื้อ ต้องไปหาหมอเป็นเรื่องเป็นราวเลย เพราะทำแบบนั้นอยู่ทุกวัน
เล่นเยอะมาก ประมาณไม่ได้เลย ตื่นเช้ามา กินข้าวเสร็จก็อยู่หน้าจอ ซ้อมมันอยู่อย่างนั้น แต่คือเราไม่เข้าใจไง แต่ก็เริ่มเข้าใจบ้างแล้วเวลาเรามาเรียงบันทึกหมากมืออาชีพ ทำความเข้าใจ เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง แต่พอเรามาเล่นอีกทีมันก็เก่งขึ้น ก็เริ่มเข้าใจว่าบันทึกหมากมืออาชีพมันสำคัญยังไง

ที่มา Thai Go Alumni – TGA